ประเทศไทย
ประเทศไทย หรือชื่อทางการว่า ราชอาณาจักรไทย
เป็นรัฐชาติอันตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีน ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มีพรมแดนด้านตะวันออกติดประเทศลาวและประเทศกัมพูชา
ทิศใต้เป็นแดนต่อแดนประเทศมาเลเซียและอ่าวไทย
ทิศตะวันตกติดทะเลอันดามันและประเทศพม่า และทิศเหนือผชิดประเทศพม่าและประเทศลาว
มีแม่น้ำโขงกั้นเป็นบางช่วง ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภา
มีศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และการปกครองส่วนภูมิภาค
จัดระเบียบเป็น 77 จังหวัด
ประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก มีเนื้อที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร
และมีประชากรมากเป็นอันดับ 20 ของโลก คือ ประมาณ 66 ล้านคน
กับทั้งยังเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีรายได้หลักจากภาคอุตสาหกรรมและการบริการ
ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเป็นอันมาก อาทิ พัทยา, ภูเก็ต, กรุงเทพมหานคร
และเชียงใหม่ ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ
เช่นเดียวกับการส่งออกอันมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และด้วยจีดีพีของประเทศ
ซึ่งมีมูลค่าราว 260,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ตามที่ประมาณใน
พ.ศ. 2552 เศรษฐกิจของประเทศไทยนับว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 33 ของโลก
ในอาณาเขตประเทศไทย
พบหลักฐานของมนุษย์ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดถึงห้าแสนปี
นักประวัติศาสตร์มักถือว่าอาณาจักรสุโขทัยเป็นยุคสมัยแรกของคนไทย
ซึ่งต่อมาตกอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรอยุธยา อันมีความยิ่งใหญ่กว่า
เนื่องจากมีการติดต่อกับชาติตะวันตก แต่ก็ร่วงโรยลงช่วงหนึ่ง
อันเนื่องมาจากการขยายอำนาจของพม่านับแต่ พ.ศ. 2054 ก่อนจะกลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง
ก่อนเสื่อมอำนาจและล่มสลายไปโดยสิ้นเชิง
เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสถาปนาอาณาจักรธนบุรี
เหตุการณ์ความวุ่นวายในช่วงปลายอาณาจักร
ได้นำไปสู่ยุคสมัยของราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในช่วงต้นกรุง
ประเทศต้องเผชิญภัยคุกคามจากชาติใกล้เคียง
แต่หลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา
ชาติตะวันตกเริ่มมีอิทธิพลในภูมิภาคเป็นอย่างมาก
นำไปสู่การเข้าเป็นภาคีแห่งสนธิสัญญาหลายฉบับ และการเสียดินแดนบางส่วน กระนั้น
ไทยก็ยังธำรงตนมิได้เป็นอาณานิคมของชาติใด ๆ ต่อมาจนช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ไทยได้เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร และในปี พ.ศ. 2475
ได้มีการปฏิวัติสยามเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศ
และไทยได้เข้ากับฝ่ายอักษะในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จนช่วงสงครามเย็น
ไทยได้ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา และต้องผ่านสมัยรัฐบาลทหารมานานหลายสิบปี
กระทั่งมีการตั้งรัฐบาลพลเรือน และเข้าสู่ยุคโลกเสรีในปัจจุบัน
ภูมิประเทศ
ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ประเทศไทยมีขนาดประมาณ 513,115 ตารางกิโลเมตร
คิดเป็นอันดับที่ 50 ของโลก เป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในคาบสมุทรอินโดจีน
รองจากประเทศอินโดนีเซียและประเทศพม่า และมีขนาดใกล้เคียงกับประเทศสเปนมากที่สุด
ประเทศไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย
ภาคเหนือเป็นพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อน จุดที่สูงที่สุดในประเทศไทย คือ
ดอยอินทนนท์ ณ 2,565 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
รวมทั้งยังปกคลุมด้วยป่าไม้อันเป็นต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของที่ราบสูงโคราช
สภาพของดินค่อนข้างแห้งแล้งและไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกนัก
แม่น้ำเจ้าพระยาเกิดจากแม่น้ำหลายสายที่ไหลมาบรรจบกันที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์
อันได้แก่ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน
ทำให้ภาคกลางกลายเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศ
และถือได้ว่าเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
ภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของคาบสมุทรไทย-มาเลย์ ขนาบด้วยทะเลทั้งสองด้าน มีจุดที่แคบลง
ณ คอคอดกระ แล้วขยายใหญ่เป็นคาบสมุทรมลายู
ส่วนภาคตะวันตกเป็นหุบเขาและแนวเทือกเขาซึ่งพาดตัวมาจากทางตะวันตกของภาคเหนือ
แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำโขงถือเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศไทย
การผลิตของอุตสาหกรรมการเกษตรจะต้องอาศัยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จากแม่น้ำทั้งสองและสาขาทั้งหลาย
อ่าวไทยกินพื้นที่ประมาณ 320,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งไหลมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง
แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตาปี ซึ่งเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว
เนื่องจากน้ำตื้นใสตามแนวชายฝั่งของภาคใต้และคอคอดกระ
อ่าวไทยยังเป็นศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมของประเทศ เนื่องจากมีท่าเรือหลักในสัตหีบ
และถือได้ว่าเป็นประตูที่จะนำไปสู่ท่าเรืออื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร
ส่วนทะเลอันดามันถือได้ว่าเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ามากที่สุดของไทย
เนื่องจากมีรีสอร์ตที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในทวีปเอเชีย รวมไปถึงจังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่
จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดตรัง และหมู่เกาะตามแนวชายฝั่งของทะเลอันดามัน
ซึ่งนักท่องเที่ยวมักจะมาเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ
ภูมิอากาศของไทยเป็นแบบเขตร้อน
หรือแบบสะวันนา มีอุณหภูมิเฉลี่ย 18-34 °C และมีปริมาณฝนตกเฉลี่ยตลอดปีกว่า 1,500 มิลลิเมตร สามารถแบ่งออกได้เป็น
3 ฤดูกาล: อากาศร้อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนเป็นฤดูร้อน;
ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม
ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลจีนใต้เป็นฤดูฝน;
ส่วนในเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนมีนาคม ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนเป็นฤดูหนาว
ส่วนภาคใต้มีสภาพอากาศแบบป่าดงดิบ ซึ่งมีอากาศร้อนชื้นตลอดทั้งปี
จึงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ฤดู: โดยฝั่งทะเลตะวันออก
ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน และฝั่งทะเลตะวันตก
ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน
ประเทศไทยยังคงมีความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งพืชและสัตว์อยู่มาก
อันเป็นรากฐานอันมั่นคงของการผลิตในภาคการเกษตร
และประเทศไทยได้มีผลไม้เมืองร้อนหลากชนิด พื้นที่ราว 29% ของประเทศไทยเป็นป่าไม้
รวมไปถึงพื้นที่ปลูกยางพาราและกิจกรรมปลูกป่าบางแห่ง
ประเทศไทยมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากว่า 50 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีก 56 แห่ง
โดยพื้นที่ 12% ของประเทศเป็นอุทยานแห่งชาติ (ปัจจุบันมี 110 แห่ง) และอีกเกือบ
20% เป็นเขตป่าสงวน ประเทศไทยมีพืช 15,000 สปีชีส์ คิดเป็น 8% ของสปีชีส์พืชทั้งหมดบนโลก ในประเทศไทย พบนกจำนวน 982 ชนิด นอกจากนี้
ยังเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม
และสัตว์เลื้อยคลานกว่า 1,715 สปีชีส์ซึ่งได้รับการบันทึก
ประวัติศาสตร์
ยุคก่อนประวัติศาสตร์
ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน
ในอดีต
พื้นที่ซึ่งเป็นประเทศไทยในปัจจุบันได้มีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่ยุคหินเก่าเป็นต้นมา
คือ ราว 20,000 ปีที่แล้ว
ภูมิภาคดังกล่าวได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมและทางศาสนาจากอินเดีย นับตั้งแต่อาณาจักรฟูนัน
เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 1 แต่สำหรับรัฐของคนไทยแล้ว ตามตำนานโยนกได้บันทึกว่า
การก่อตั้งอาณาจักรของคนไทยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1400
อาณาจักรสุโขทัย
ภายหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิขะแมร์
เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ทำให้มีรัฐเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในเวลาไม่นานนัก อาทิ
ชาวไท มอญ เขมรและมาเลย์ นักประวัติศาสตร์ไทยเริ่มถือเอาสมัยอาณาจักรสุโขทัย
นับตั้งแต่ พ.ศ. 1781 เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ชาติไทย
ซึ่งตรงกับสมัยรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรล้านช้าง
อาณาจักรสุโขทัยขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวางในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
แต่เริ่มอ่อนแอลงภายหลังการสวรรคตของพระองค์
การรับพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์เข้ามา
ทำให้อาณาจักรสุโขทัยเริ่มมีการปกครองแบบธรรมราชา
อาณาจักรอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ดูบทความหลักที่ อาณาจักรอยุธยา, อาณาจักรธนบุรี และ
อาณาจักรรัตนโกสินทร์
พระเจ้าอู่ทองทรงก่อตั้งอาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรของชนชาติไทยขึ้น ในปี
พ.ศ. 1893 มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งยึดมาจากหลักของศาสนาพราหมณ์
การเข้าแทรกแซงสุโขทัยอย่างต่อเนื่องทำให้อาณาจักรสุโขทัยตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา
ต่อมา ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระร่วงเจ้าสุโขทัย คนสุดท้าย
พระยายุทธิษฐิระ เอาใจออกห่างไปเข้ากับอาณาจักรล้านนาในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช
พระองค์จึงทรงไปประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกและทำสงครามกับอาณาจักรล้านนาเป็นเวลาหลายปี
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงปฏิรูปการปกครองใหม่
ซึ่งบางส่วนได้ใช้มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การยึดครองมะละกาของโปรตุเกสในปี
พ.ศ. 2054 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทำให้อยุธยาเริ่มการติดต่อกับชาติตะวันตก
ในขณะเดียวกัน ราชวงศ์ตองอูของพม่าเริ่มมีอำนาจมากขึ้น
จึงนำมาสู่การขยายดินแดนมายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระเจ้าบุเรงนอง
การสงครามอันยืดเยื้อนับสิบปี ส่งผลให้อยุธยาตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรตองอูใน
พ.ศ. 2112 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้เวลา 15
ปีเพื่อสร้างภาวะครอบงำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งหนึ่ง
จากนั้น
กรุงศรีอยุธยาได้กลายมาเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองถึงขีดสุด
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอยุธยารุ่งเรืองขึ้นอย่างมากในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ซึ่งสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส, ดัตช์, และกอังกฤษ อย่างไรก็ตาม
อิทธิพลซึ่งเพิ่มมากขึ้นของชาวต่างชาติในกรุงศรีอยุธยา
ทำให้พระเพทราชาประหารชีวิตคอนสแตนติน ฟอลคอน
ความขัดแย้งภายในทำให้การติดต่อกับชาติตะวันตกซบเซาลง]
อาณาจักรอยุธยาเริ่มเสื่อมอำนาจลงราวพุทธศตวรรษที่
24 การสงครามกับราชวงศ์คองบองส่งผลให้อยุธยาถูกปล้นสะดมและเผาทำลาย เมื่อปี พ.ศ.
2310 ในปีเดียวกัน พระยาตากได้รวบรวมไพร่พลกอบกู้เอกราช
และย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงธนบุรี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของคนไทยเป็นเวลานาน 15 ปี
ถือเป็นช่วงเวลาของการทำสงครามและการฟื้นฟูความเจริญของชาติ จนกระทั่ง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
ได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325
ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ไทยเผชิญกับการรุกรานจากชาติเพื่อนบ้านหลายครั้งจนกระทั่งรัชกาลที่ 4
พระราชนโยบายของพระมหากษัตริย์ในช่วงนี้ คือ การป้องกันตนเองจากมหาอำนาจอาณานิคม
แต่ก็ส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ เทคโนโลยีตะวันตก และการศึกษาอันทันสมัย
การเมืองการปกครอง
เดิมประเทศไทยมีการปกครองแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยาเป็นต้นมา จนกระทั่งมีการปกครองในลักษณะรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางแบบเด็ดขาดตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้นวันที่
24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
คณะราษฎรได้ปฏิวัติในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
แล้วเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นแบบในปัจจุบัน
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
และใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
หรือที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเรียกรวมกันว่า
ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเป็นฉบับที่ 18
อันกำหนดรูปแบบองค์กรบริหารอำนาจทั้งสามส่วนดังนี้
อำนาจนิติบัญญัติ
มีรัฐสภาในระบบสองสภา อันประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
มีสมาชิกรวมกันทั้งสิ้น 630 คน เป็นองค์กรบริหารอำนาจ
มีประธานรัฐสภาเป็นประมุขแห่งอำนาจ
อำนาจบริหาร มีนายกรัฐมนตรี
ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์
ตามคำกราบบังคมทูลของประธานรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี
ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี
เป็นองค์กรบริหารอำนาจ นายกรัฐมนตรีเป็นประมุขแห่งอำนาจ
อำนาจตุลาการ มีระบบศาล
ซึ่งประกอบด้วยศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง เป็นองค์กรบริหารอำนาจ
มีประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด
เป็นประมุขในส่วนของตน
สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยผู้แทนราษฎรจำนวน
500 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจำนวน 375 คน และมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วน
125 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี; วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 150 คน มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1
คน (รวมกรุงเทพมหานคร) และมาจากการสรรหา 73 คน โดยมีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา
7 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี และไม่สามารถเป็นสมาชิกวุฒิสภาติดต่อกันเกิน 1 วาระ; นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งคราวละ
4 ปี ตามสภาผู้แทนราษฎร และไม่สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้เกิน 8 ปี
นายกรัฐมนตรีมิได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน
แต่ได้รับการลงมติเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎร;
ศาลรัฐธรรมนูญมีวาระ 9 ปี
ประกอบด้วยตุลาการ 9 คน
การแบ่งเขตการปกครอง
การแบ่งภูมิภาคของประเทศไทยโดยใช้เกณฑ์อย่างเป็นทางการของราชบัณฑิตยสถาน
ภาคเหนือ
ภาคอีสาน
ภาคกลาง
|
ภาคตะวันออก
ภาคตะวันตก
ภาคใต้
|
ประเทศไทยแบ่งเขตการบริหารออกเป็น
(1) ราชการส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง, ทบวง และกรม (2) ราชการส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด 77 แห่ง, อำเภอ
877 แห่ง และตำบล 7,255 แห่ง และ (3) ราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด, เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล, กรุงเทพมหานคร และ
เมืองพัทยา สำหรับสุขาภิบาลนั้นถูกยกฐานะไปเป็นเทศบาลทั้งหมดในปี พ.ศ. 2542
การคมนาคม
การคมนาคมส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะใช้การขนส่งทางบกเป็นหลัก คือ
อาศัยรถยนต์และจักรยานยนต์ ทางหลวงสายหลักในประเทศไทย ได้แก่ ถนนพหลโยธิน
ถนนมิตรภาพ ถนนสุขุมวิท และถนนเพชรเกษม
นอกจากนี้ระบบขนส่งมวลชนจะมีการบริการตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ได้แก่ระบบรถเมล์ และรถไฟ
รวมถึงระบบที่เริ่มมีการใช้งานรถไฟลอยฟ้า และรถไฟใต้ดิน
และในหลายพื้นที่จะมีการบริการรถสองแถว รวมถึงรถรับจ้างต่าง ๆ ได้แก่ แท็กซี่
เมลเครื่อง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และรถตุ๊กตุ๊ก
สำหรับการคมนาคมทางอากาศนั้น
ปัจจุบันประเทศไทยได้เปิดใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ซึ่งถือได้ว่าเป็นท่าอากาศยานขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ
โดยเปิดอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549
เพื่อใช้แทนที่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง ส่วนการคมนาคมทางน้ำ
ประเทศไทยมีท่าเรือหลัก ๆ คือ ท่าเรือกรุงเทพ คลองเตย และท่าเรือแหลมฉบัง
ศาสนา
จำนวนผู้นับถือศาสนาในประเทศไทย
|
||
พุทธ
|
94.6%
|
|
อิสลาม
|
4.6%
|
|
คริสต์
|
0.7%
|
|
อื่น ๆ
|
0.1%
|
ประชากรไทยนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ประมาณร้อยละ 94.6
ซึ่งถือได้ว่าเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทยโดยพฤตินัย
แม้ว่าจะยังไม่มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใดเลยก็ตาม รองลงมา
ได้แก่ ศาสนาอิสลามประมาณร้อยละ 4.6 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยทางภาคใต้ตอนล่าง
และยังมีชุมชนชาวสิกข์และชาวฮินดูในประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะมีขนาดเล็ก
แต่ก็มีอิทธิพลต่อประเทศอยู่ไม่น้อย สำหรับประชาคมชาวยิวนั้น
มีประวัติยาวนานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17
ภาษา
ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาทางการ
และเป็นภาษาหลักที่ใช้ติดต่อสื่อสาร การศึกษาและเป็นภาษาพูดที่ใช้กันทั่วประเทศ โดยใช้อักษรไทยเป็นรูปแบบมาตรฐานในการเขียน
ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นอย่างเป็นทางการในสมัยสุโขทัยโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
นอกเหนือจากภาษาไทยกลางแล้ว ภาษาไทยสำเนียงอื่นยังมีการใช้งานในแต่ละภูมิภาคเช่น
ภาษาไทยถิ่นเหนือในภาคเหนือ ภาษาไทยถิ่นใต้ในภาคใต้ และภาษาไทยถิ่นอีสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกเหนือจากภาษาไทยแล้ว
ในประเทศไทยยังมีการใช้งานภาษาของชนกลุ่มน้อยเช่น ภาษาจีนโดยเฉพาะสำเนียงแต้จิ๋ว
ภาษาลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งบางครั้งนิยามว่าภาษาลาวสำเนียงไทย
ภาษามลายูปัตตานีทางภาคใต้ นอกจากนี้ก็มีภาษาอื่นเช่น ภาษากวย ภาษากะยาตะวันออก
ภาษาพวน ภาษาไทลื้อ ภาษาไทใหญ่ รวมไปถึงภาษาที่ใช้กันในชนเผ่าภูเขา
ประกอบด้วยตระกูลภาษามอญ-เขมร เช่น ภาษามอญ ภาษาเขมร ภาษาเวียดนาม และภาษามลาบรี; ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน เช่น ภาษาจาม; ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต เช่น ภาษาม้ง
ภาษากะเหรี่ยง และภาษาไตอื่น ๆ เช่น ภาษาผู้ไท ภาษาแสก เป็นต้น
ภาษาอังกฤษและอักษรอังกฤษมีสอนในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย
แต่จำนวนผู้ที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องในประเทศไทยยังคงมีจำนวนน้อยอยู่
และส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตเมืองและในครอบครัวที่มีการศึกษาดีเท่านั้น
ซึ่งในด้านความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษนั้น
จากที่ประเทศไทยเคยอยู่ในระดับแนวหน้าในปี พ.ศ. 2540 แต่เมื่อกลางปี พ.ศ. 2549
ไทยกลับล้าหลังประเทศลาวและประเทศเวียดนาม
การศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 2459
การศึกษาภาคบังคับในประเทศไทยเริ่มมีขึ้นตั้งแต่
พ.ศ. 2464 ตามกฎหมายไทย
รัฐบาลจะต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบให้เปล่าแก่ประชาชนเป็นเวลา 12 ปี
ส่วนการศึกษาภาคบังคับในปัจจุบันกำหนดไว้ 9 ปี
ระบบโรงเรียนที่ถูกจัดไว้มีตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมกศึกษาตอนต้นตามลำดับ
แต่หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว
บุคคลสามารถเลือกได้ระหว่างศึกษาต่อสายสามัญในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
หรือเลือกศึกษาสายวิชาชีพ หรืออาจเลือกศึกษาต่อในสถาบันทางทหารหรือตำรวจ
ในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย
นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะต้องผ่านระบบการรับบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
ซึ่งโดยปกติจะเสร็จสิ้นในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6
มหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล และ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งติดอยู่ในอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชียจาก QS Asian University Rankings 2011
แต่กระนั้น
ก็ยังมีการเป็นห่วงในประเด็นทางด้านระดับเชาวน์ปัญญาของเยาวชนชาวไทย
ซึ่งจากการศึกษาของหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่นได้รายงานว่า
"กรมอนามัยและกรมสุขภาพจิตจะต้องรับมือกับความฉลาดที่ต่ำลง
หลังจากได้พบว่าระดับเชาวน์ปัญญาโดยเฉลี่ยในกลุ่มเยาวชนต่ำกว่า 80" วัชระ
พรรณเชษฐ์ได้รายงานในปี พ.ศ. 2549 ว่า
"ค่าเฉลี่ยของระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กไทยอยู่ระหว่าง 87-88
ซึ่งยังคงอยู่ในระดับ 'ต่ำกว่ามาตรฐาน' จากการจัดระดับในระดับสากล" ปัญหาในการศึกษาไทย
พบว่าการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนยังจำกัดอยู่มาก
วัฒนธรรม
วัฒนธรรมไทยได้รับเอาวัฒนธรรมอินเดีย จีน
ขอมและดินแดนบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาอย่างมาก พุทธศาสนานิกายเถรวาท
ซึ่งเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในประเทศไทย
ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเอกลักษณ์และศรัทธาของไทยสมัยใหม่ ทำให้พุทธศาสนาในประเทศไทยได้มีการพัฒนาตามกาลเวลา
ซึ่งรวมไปถึงการรวมเอาความเชื่อท้องถิ่นที่มาจากศาสนาฮินดู การถือผี
และการบูชาบรรพบุรุษ ส่วนชาวมุสลิมอาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่
รวมไปถึงชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามามีส่วนสำคัญอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและใกล้เคียง ซึ่งการปรับตัวเข้ากับสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ทำให้กลุ่มชาวจีนได้มีตำแหน่งในอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง
วัฒนธรรมไทยมีส่วนที่คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมเอเชีย
กล่าวคือ มีการให้ความเคารพแก่บรรพบุรุษ ซึ่งเป็นการยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างช้านาน
ชาวไทยมักจะมีความเป็นเจ้าบ้านและความกรุณาอย่างดี
แต่ก็มีความรู้สึกในการแบ่งแยกลำดับชั้นอย่างรุนแรงเช่นกัน
ความอาวุโสเป็นแนวคิดที่สำคัญในวัฒนธรรมไทยอย่างหนึ่ง
ผู้อาวุโสจะต้องปกครองดูแลครอบครัวของตนตามธรรมเนียม และน้องจะต้องเชื่อฟังพี่
การทักทายตามประเพณีของไทย
คือ การไหว้ ผู้น้อยมักจะเป็นผู้ทักทายก่อนเมื่อพบกัน
และผู้ที่อาวุโสกว่าก็จะทักทายตอบในลักษณะที่คล้าย ๆ กัน
สถานะและตำแหน่งทางสังคมก็มีส่วนต่อการตัดสินว่าผู้ใดควรจะไหว้อีกผู้หนึ่งก่อนเช่นกัน
การไหว้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ในการให้ความเคารพและความนับถือแก่อีกผู้หนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น